วันพุธที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

การตอกเข็ม การทำเข็มเจาะ




การตอกเข็ม หรือการทำเข็มเจาะ เป็นงานที่สำคัญสำหรับการสร้างบ้านนะครับ เพราะถือว่าเป็นจุดที่รับน้ำหนักของบ้านทั้งหลังไว้ เพราะฉะนั้นควรให้ความสำคัญด้วยนะครับ สำหรับหลักการของผู้ที่เป็นเจ้าของบ้านที่ควรรู้ไว้ไม่ยากครับ

การสร้างบ้านนั้นจำเป็นต้องมีเสาเข็มรับน้ำหนักของตัวบ้าน โดยทั่วไปที่นิยมใช้ ก็จะเป็น

1. การใช้เข็มตอก

เข็มตอกคืออะไรเหรอครับ คำตอบคือ การนำเสาเข็มมาตอกลงบนพื้นดินนั่นแหละครับ ส่วนขนาดของเสาเข็ม และความยาวของเสาเข็มที่ต้องใช้ ก็ตามที่วิศวกรออกแบบมา กรณีที่จะใช้เข็มตอกได้คือ พื้นที่ที่สร้างไม่ควรติดหรือชิดกับอาคารอื่นๆ ครับ เพราะจะมีปัญหาในการตอกแน่ๆ คือที่เห็นๆก็ข้างบ้านนั่นแหละครับ เพราะเขากลัวว่าเมื่อมีการตอกเข็มจะสะเทือนและทำให้บ้านของเขาอาจทรุด แตก หรือ ได้รับความเสียหาย

วิธีการตอกเข็ม

ต้องพยายามดูนะครับว่า ตรงจุดที่กำหนดไว้ตอนวางผังหรือเปล่า ถ้าตรงแล้วก็สังเกตต่อว่าเวลาที่ทำการตอกนั้น เสาเข็มมีพฤติกรรมอย่างไรบ้าง ยิ่งถ้าเป็นช่วงที่ลงไปลึกๆแล้ว การลงของเสาเข็มส่วนมากจะค่อยๆลงที่ละไม่มาก ถ้าอยู่ดีๆ แล้วตอกลงไปได้เยอะมาก แสดงว่าไม่ค่อยดีแล้วครับ อาจไม่การสไลด์ของเสาเข็ม คือส่วนมากจะใช้เสาเข็ม 2 ต้น ต่อกันให้ได้ความลึกตามที่ต้องการ ตรงรอยต่อนี่แหละครับอาจมีการหลุด เนื่องจากการเชื่อมต่อของเสาเข็มอาจไม่ได้มาตรฐาน

สำหรับการตอกเข็มนั้นจะใช้เวลาที่น้อยกว่าการทำเข็มเจาะ ที่สำคัญราคาก็ต่ำกว่าด้วย

รูป ปั้นจั่น เข็มตอก




การเชื่อมต่อระหว่างเข็ม


2.การทำเข็มเจาะ

การทำเข็มเจาะก็จะใช้ในกรณีที่ไม่สามารถตอกเข็มได้ หลักการการทำเข็มเจาะก็คือ การใช้แบบเหล็กเป็นทรงกระบอกกดลงไปในดิน แล้วนำดินที่อยู่ในปลอกเหล็กขึ้นมา เพื่อให้เป็นช่องว่ารูปทรงกระบอก นำดินขึ้นมาจนถึงระดับที่ต้องการ ก็นำเหล็กใส่ลงไป และนำคอนกรีตเทลงไปให้เต็มครับ

การทำเข็มเจาะใช้เวลานานกว่าเข็มตอกนะครับ อีกทั้งยังมีราคาที่แพงกว่าด้วย เพราะฉะนั้นถ้าพื้นที่เราสามารถตอกได้ก็จะช่วยประหยัดเงินไปอีกหน่อยครับ

สำหรับเมื่อทำการเทคอนกรีตเสร็จแล้ว แต่ไม่มั่นใจว่าเข็มที่ทำมีความปลอดภัยหรือได้มาตรฐานหรือเปล่า ก็สามารถเช็คได้ครับ แต่คงต้องเสียตังค์ว่าจ้างบริษัทมาทำการเทสให้ครับ สามารถตรวจสอบได้ว่าเข็มมีช่วงใดบ้างที่ไม่ได้ขนาดมาตรฐาน


รูปการทำเข็มเจาะ




การนำเหล็กลงในแบบของเข็มเจาะ



วันนี้คงพอรู้จักเข็มตอกและเข็มเจาะกันบ้างนะครับ หากมีอะไรสงสัยก็ถามได้นะครับ ตอบได้ก็จะตอบให้ ถ้าตอบไม่ได้ก็จะไปหาคำตอบมาให้ครับ

วันศุกร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

การวางผัง




เมื่อท่านมีแบบแปลน และขออนุญาติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อย่าลืมหาผู้รับเหมาสร้างบ้านดีๆ หล่ะครับ ส่วนขั้นตอนของการปลูกสร้างบ้านที่ผมจะอธิบายให้ฟัง จะเริ่มจากที่ทุกอย่างพร้อม แบบ,ผู้รับเหมา เริ่มกันเลยดีกว่าครับ เสียเวลาไปเยอะแล้ว เดี๋ยวจะเบื่อกันซะก่อน

ขั้นตอนแรกของการปลูกสร้างคือการหาแนววางผังครับ

การหาแนวหรือการวางผัง มีประโยชน์หรือความจำเป็นที่ต้องทำหรือเปล่า คำตอบคือ มากๆ ครับ เพราะเป็นด่านแรกเลยสำหรับการจะมีบ้านที่มีทรงของรูปบ้านไม่บิดเบี้ยว เพราะว่าจะเป็นการหาระยะห่างของขอบเขตบริเวณให้ได้ตามผังบริเวณที่มีอยู่ในแบบนะครับ และจะเป็นตัวกำหนดตำแหน่งของเข็ม หรือฐานราก ว่าต้องอยู่ตำแหน่งใด มีทั้งหมดกี่จุด ต้องเช็คตามด้วยนะครับหลังจากที่ช่างวางผังเสร็จแล้ว ว่าตำแหน่งของเข็มครบทุกจุดหรือเปล่า ระยะตรงตามที่แบบกำหนดไว้หรือไม่ ในขั้นตอนนี้มีประโยชน์คือ

  • เราจะเริ่มเห็นขนาดจริงว่าบ้านกว้าง และยาวเท่าไหร่ เพราะบางทีดูจากแบบจะนึกภาพไม่ค่อยออกว่าบ้านของเรากว้างหรือแคบไป

  • สามารถเช็คระดับต่างๆ อย่างคร่าวๆได้ครับ เช่น ระดับพื้นต่างๆ ถ้าไม่เข้าใจจะยกตัวอย่างให้นะครับ เช่น สมมติพื้นดินที่ถมอยู่ ผมให้เป็นระดับที่ +0.00 (หมายถึงความสูง) เมื่อช่างวางผังเขาจะต้องตีไม้เป็นกรอบรอบๆ พื้นที่ที่จะปลูกสร้าง ต้องถามช่างครับว่าทำระดับของผังไว้ที่เท่าไหร่ สมมติว่า 50 เซนติเมตร จากพื้นดินแล้วกัน ฉะนั้นระดับของผังจะเท่ากับ +0.50 ครับ ทีนี้เราก็เปิดแบบดูเลยครับ ว่าพื้นบ้านของเราอยู่ที่เท่าไหร่ ก็เปรียบเทียบกับผังได้เลย เช่น ในแบบบอกไว้ว่าระดับพื้นชั้น 1 เท่ากับ +0.30 แสดงว่าพื้นบ้านของเราจะต่ำกว่าระดับไม้ที่ตีล้อมรอบพื้นที่ 20 เซนติเมตร คงพอจะนึกภาพออกนะครับ

  • จะมีผลต่องานก่อผนังของบ้านนะครับ เพราะเราจะต้องใช้แนวที่มาจากการวางผัง ถ้าผังดี ไม่เอียงซ้าย เอียงขวา เป็นฉาก ก้อจะทำให้การหาแนวก่อผนังง่าย และได้มุมฉากที่สวยด้วยครับ

ส่วนรูปภาพไว้จะนำมาลงให้ดูนะครับ และหากว่ามีปัญหาหรือต้องการปรึกษาก็ comment ไว้ได้นะครับ ยินดีให้คำแนะนำ