วันศุกร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2554

แบบแปลน



สิ่งแรกๆ สำหรับการจะปลูกสร้างบ้านคงหนีไม่พ้น แบบแปลน เพราะว่าแบบแปลนเป็นตัวกำหนดให้เกิดการปลูกสร้างขึ้นอย่างมีจุดมุ่งหมายและถูกต้องตามที่เจ้าของบ้านต้องการ


การทำแบบแปลนที่ดีนั้น ต้องคำนึงถึงอะไรบ้างหล่ะ แล้วต้องเริ่มอย่างไร ก็ไม่ยากครับ

  1. สำรวจตัวเองว่าต้องการบ้านกี่ชั้น เนื่องจากบางครอบครัวอาจมีสมาชิกหลายคน ถ้าชั้นเดียวอาจจะไม่เพียงพอต่อการใช้สอย ก็อาจใช้วิธีเลือกเป็น 2 ชั้นไปเลย
  2. ความต้องการการใช้สอยภายในบ้าน ต้องมีห้องอะไรบ้าง คิดไว้เลยครับ
  3. รูปแบบหรือสไตล์ของบ้าน  ชอบแบบไหนก็พยายามหารูปเก็บไว้นะครับ ได้ใช้แน่ๆ
  4. ยังมีหัวข้อที่ต้องคิดอีกครับ ทำไมยังมีอีก คิดแค่นี้ไม่ได้เหรอ ไม่ได้ครับ เพราะผมกำลังจะพาไปพบกับสถาปนิก ตามมาเลยครับ
จากที่ผมบอกไปแล้วว่าเวลาที่ต้องการแบบแปลนบ้านที่ดีต้องคำนึงถึงอะไร ที่นี้นำสิ่งที่ผมบอกไปหาสถาปนิกได้เลยครับ ว่าจ้างให้เขาช่วยออกแบบให้โดย

เตรียมโฉนด แล้วไปถ่ายเอกสารไว้เท่าตัวจริง สถาปนิกเขาต้องใช้ในการทำผังบริเวณครับ

บอกความต้องการเบื้องต้นทึ่คุณคิดไว้แล้ว หรือ อาจจะมีรูปแบบบ้านที่คุณชอบนำเอามาเป็นแนวทางที่จะสื่อสารกับสถาปนิก จะได้ง่ายและได้แบบบ้านตรงใจงัยครับ

ในระหว่างที่คุณได้ปรึกษากับทางสถาปนิก ทางสถาปนิกเขาจะช่วยให้คำแนะนำ และถามถึงความต้องการต่างๆ ของบ้านคุณ เพราะฉะนั้นผมถึงบอกว่ายังมีสิ่งทึ่ต้องคิดอีกเยอะงัยหล่ะครับ สำหรับเวลาในช่วงทำแบบแปลนนี้ อยากให้ทุกท่านที่ต้องการสร้างบ้านใจเย็นๆ ค่อยๆคิด หาข้อมูลต่างๆ เช่น จะใช้สีอะไรกับตัวบ้าน ถ้าคิดไม่ออกกลัวจะออกมาไม่สวย ก็สังเกตเวลาผ่านไปที่ต่างๆ แอบดูและจดจำหรือจะถ่ายรูปเก็บไว้ให้สถาปนิกดูก็ได้,วัสดุต่างๆ ที่ใช้ในการก่อสร้างก็สำคัญไม่แพ้กัน ต้องดูด้วยว่าวัสดุที่เราต้องการใช้นั้น เหมาะสมกับการใช้งานและงบประมาณของเราหรือเปล่า แต่ถ้าจะให้ง่ายนะครับ อยากได้วัสดุอะไรบอกไปเลย แล้วเรื่องของงบประมาณว่าเกินหรือเปล่านั้น ให้เป็นขั้นตอนของผู้รับเหมาช่วยดีราคา ถ้ามากเกินไปจริงๆ ก็ต้องปรับลดวัสดุที่มีราคาต่ำลงมานะครับ

คงไม่ยากเกินไปนะครับ สำหรับการทำแบบแปลน แต่คงต้องให้เวลาสักนิด เพราะคงต้องมีการเปลี่ยนแปลงแบบเล็กๆน้อยๆ สาเหตุเพราะส่วนมากแบบที่ออกมานั้นจะไม่ตรงใจเจ้าของบ้านทั้งหมดหรอกครับ อาจมีการขอเพิ่มตรงนั้น ตรงนี้ ก็ต้องให้สถาปนิกปรับเปลี่ยนให้ตรงใจ ต้องให้เวลา และใจเย็นๆ นะครับ จะได้มีแบบที่ดีๆงัยหล่ะครับ


หลังจากที่มีแบบแล้วต้องทำอย่างไรต่อไป


ก็ต้องนำแบบแปลนที่ได้มาส่งต่อไปให้วิศวกรโยธา คำนวณ และออกแบบโครงสร้างต่างๆให้นะครับ เช่น
ฐานราก, คาน, พื้น, เสา โครงหลังคา สิ่งที่จะได้กลับมาจากการว่าจ้างวิศวกร คือ รายการคำนวณ และรายละเอียดต่างๆของโครงสร้าง

ถ้าเสร็จสิ้นทั้งการออกแบบโดยสถาปนิกและวิศวกรแล้ว ก็ใกล้จะได้เริ่มปลูกสร้างซะที แต่ยังไม่ได้ครับ ต้องนำแบบ,รายการคำนวณ พร้อมเอกสารต่างๆที่ทางราชการกำหนด อะไรบ้างน่ะเหรอ ไปถามที่เขต หรือ อบต.ที่ท่านจะทำการปลูกสร้างได้เลยครับ เขาจะบอกว่าต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง กี่ชุด แต่ที่แน่ๆ ท่านต้องมีใบรับรองจากสถาปนิก และวิศวกรที่ออกแบบไปด้วย

เมื่อนำไปขออนุญาติปลูกสร้าง และผ่านการอนุมัติแล้ว ท่านก็สามารถหาบริษัท หรือ ผู้รับเหมามาทำงานให้ท่านได้แล้วหล่ะครับ

วันพุธที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2554

เบื้องต้นของการสร้างบ้าน




การสร้างบ้าน การหาผู้รับเหมาก่อสร้าง การออกแบบ-เขียนแบบก่อสร้าง สิ่งต่างๆ เหล่านี้สำหรับผู้ที่ไม่เคยปลูกบ้าน หรือซื้อบ้าน ก็คงจะไม่ชำนาญ เมื่อถึงเวลาที่ต้องการสร้างบ้านขึ้นมาสักหลัง คงจะมึนงงว่าต้องเริ่มอย่างไรก่อน ต้องขอออกตัวก่อนนะครับว่า เป็นอีกหนึ่งคนซึ่งไม่ได้เก่งอะไรมากมายทางด้านก่อสร้าง ยังมีอีกหลายร้อย พัน หมื่น แสน และหลายล้านคนที่เก่งและมีความรู้มากกว่าผม(ผมคิดว่าอย่างนั้น)  แต่สำหรับหลายๆคนซึ่งไม่เคยมีพื้นฐานความเข้าใจเกี่ยวกับการก่อสร้างบ้านผมคิดว่าอาจจะมีประโยชน์ไม่มากก็น้อย อาจเป็นแนวทางในการหาข้อมูลอื่นๆ ต่อไปได้อีก

ซึ่งวันนี้ผมก็คิดว่าน่าจะเขียนอะไรขึ้นมาสักอย่าง เพื่อให้ความรู้ หรือข้อคิดเห็นต่างๆ เกี่ยวกับการก่อสร้าง ซึ่งผมจะเน้นไปที่การสร้างบ้านแล้วกันนะครับ ว่าแล้วก็ขอเริ่มเลยละกัน

ก่อนอื่นสำหรับผู้ที่ต้องการมีบ้านสักหลัง เพื่อไว้เป็นที่พักพิง เป็นศูนย์รวมของครอบครัวนั้น มีความพร้อมหรือยัง และมีอะไรบ้างที่เอื้ออำนวยต่อการมีบ้านดีๆสักหลัง

1.กรณีมีที่ดินเป็นของตัวเอง

เป็นข้อได้เปรียบเห็นๆ เลยครับ ถ้าคุณคิดว่าทำเลของที่ดินและสิ่งแวดล้อมบริเวณนั้นเหมาะกับคุณ ก็คิดง่ายๆ เลยครับ ว่าเราไม่
ต้องเสียค่าที่ดินเพิ่มอีก ก็จะเหลือแต่ค่าใช้จ่ายในกระบวนการปลูกสร้างบ้านเพียงอย่างเดียว อันนี้หมายถึงว่ารวมกับค่าออกแบบ เขียนแบบ ขออนุญาติด้วยนะครับ

2. กรณีไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง

ก็เป็นได้หลายอย่างนะครับ คือ จะไปหาซื้อที่ดินดีๆ ที่ถูกใจ หรือ บ้านที่มีให้เลือกตามโครงการต่างๆ มีมากมายหลายแบบ หลายสไตล์ จนแทบจะเลือกไม่ถูกเลยหล่ะ ถ้าเป็นกรณีนี้ ก็ต้องพิจารณากันมากหน่อยนะครับ สิ่งที่ควรจะพิจารณาในการเลือกซื้อบ้านในโครงการ เช่น
  • งบประมาณที่เราเตรียมไว้  พยายามอย่าให้เกินแล้วกัน เพราะอาจต้องเผื่อเงินไว้สำหรับตกแต่ง หรือ ซื้อของเข้าบ้านเช่น เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ค่าโอน และอื่นๆอีก
  • ความต้องการพื้นที่ใช้สอย ให้สอดคล้องกับงบประมาณด้วยนะครับ อยากได้กี่ชั้น กี่ห้อง ก็ค่อยๆพิจารณาตามความชอบ
  • ทำเล เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องใส่ใจมากๆ เนื่องจากมันมีผลกระทบกับคุณไม่ใช่น้อยถ้าเลือกผิดที่ผิดทาง เช่น บ้านอยู่พุทธมณฑล แต่ไปทำงานที่มีนบุรี ถ้าไกลแบบนี้ผมว่าไม่สะดวกแน่ๆ
  • ระบบความปลอดภัยและบริการหลังการขาย ถ้าเป็นบริษัทหรือโครงการที่มีชื่อเสียง ก็น่าจะปลอดภัยดีนะครับ
  • แบบบ้าน มีมากมายเหลือเกิน โครงการขึ้นกันพรึบไปหมด ดูตามโฆษณาต่างๆและแวะไปดูของจริงตามโครงการก้อดีนะ หลายๆที่ หลายๆ โคงการ จะได้มีหลายๆตัวเลือกงัยครับ
นี่ก็เป็นเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ ที่หลายคนรู้อยู่แล้ว แต่บางทีอาจจะลืมนึกไป ก็เลยเอามาเตือนกันไว้ แต่นี่ก็เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น รายละเอียดต่างๆ ที่ต้องพิจารณาของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ก็ต้องค่อยๆพิจารณากันไป บ้านทั้งหลัง ชีวิตทั้งชีวิต มันมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้นต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วน ไม่ต้องรีบร้อน เพื่อบ้านที่ดีของทุกๆคน

วันนี้เอาไว้เท่านี้ก่อนแล้วกัน แล้วจะมาอธิบายขั้นตอนการปลูกบ้านว่าเป็นอย่างไรในตอนต่อไปนะครับ